หลักการทำงานของเครื่องปรับอากาศ
หลักการทำงานของเครื่องปรับอากาศที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบ้านพักอาศัยและอาคารสำนักงานขนาดเล็ก คือระบบอากาศทั้งหมด (All-air system) ซึ่งอาศัยการทำงานของระบบการทำความเย็น (Refrigeration Cycle) โดยมีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน ได้แก่
- คอมเพรสเซอร์ (Compressor) – ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสารทำความเย็นหรือ "น้ำยา" (Refrigerant) ในระบบ โดยจะเพิ่มอุณหภูมิและความดันของน้ำยา
- คอยล์ร้อน (Condenser) – ทำหน้าที่ระบายความร้อนจากสารทำความเย็น
- คอยล์เย็น (Evaporator) – ดูดซับความร้อนจากภายในห้องเพื่อให้ห้องเย็นลง
- อุปกรณ์ลดความดัน (Throttling Device) – ลดความดันและอุณหภูมิของสารทำความเย็น โดยทั่วไปจะใช้แค็ปพิลลารี่ทิ้วบ์ (Capillary Tube) หรือ เอ็กสแปนชั่นวาล์ว (Expansion Valve)
ระบบการทำความเย็นที่กล่าวถึงคือระบบอัดไอ (Vapor-Compression Cycle) ซึ่งทำงานโดยสารทำความเย็น (น้ำยา) จะไหลวนตามวัฏจักรการทำความเย็นผ่านทั้ง 4 ส่วนประกอบ ดังนี้:
- เริ่มต้นที่คอมเพรสเซอร์ – คอมเพรสเซอร์ดูดและอัดสารทำความเย็นเพื่อเพิ่มความดันและอุณหภูมิ จากนั้นส่งน้ำยาไปยังคอยล์ร้อน
- คอยล์ร้อน – น้ำยาจะไหลผ่านแผงคอยล์ร้อนและมีพัดลมช่วยระบายความร้อน ทำให้น้ำยาลดอุณหภูมิลง (ความดันคงที่) ก่อนจะถูกส่งต่อไปยังอุปกรณ์ลดความดัน
- อุปกรณ์ลดความดัน – น้ำยาไหลผ่านอุปกรณ์ลดความดันแล้วลดทั้งความดันและอุณหภูมิ จากนั้นไหลเข้าสู่คอยล์เย็น
- คอยล์เย็น – น้ำยาจะไหลผ่านคอยล์เย็นและมีพัดลมช่วยดูดซับความร้อนจากในห้องเพื่อลดอุณหภูมิห้อง น้ำยาจะออกจากคอยล์เย็นที่อุณหภูมิสูงขึ้น (ความดันคงที่) และกลับไปที่คอมเพรสเซอร์เพื่อหมุนเวียนต่อไป
กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดการทำงานของคอมเพรสเซอร์ เพื่อรักษาอุณหภูมิห้องให้เย็นและสม่ำเสมอตามที่ตั้งค่าไว้
<< ย้อนกลับ